Monday, June 15, 2009

ประเทศไทยควรมีพลเมืองเท่าไรจึงจะดี

เพิ่งอ่านจบไปอย่างรวดเร็วหนังสือเล่มใหม่
เกี่ยวกับความรู้ด้านประชากรศาสตร์
เรื่อง ประเทศไทยควรมีประชากรเท่าไรจึงจะดี
โดย ศ.ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศาสตราจารย์สาขาประชากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

อะไรคือความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ในมุมมองของคนอ่าน

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ที่จำเป็นและน่าสนใจเกี่ยวกับประชากรในประเทศไทย
และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่เราไม่ค่อยจะได้นึกถึง
เช่น เราทราบกันดีว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศของเรา
เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526
ที่อัตราการเกิดของประชากรมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนทุกปี
(ที่ อ.ปราโมทย์เรียกว่าประชากรรุ่นเกิดล้าน)
ฝรั่งเรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่าเป็นยุค Baby Boomer (พ.ศ. 2489-2499)
ได้อ่านอย่างนี้เลยรู้ว่าเหตุการณ์อย่างนี้ในประเทศไทยเกิดหลังจากนั้น
เราๆ ท่านๆ จำนวนไม่น้อยก็อยู่ในข่ายประชากรรุ่นเกิดล้านนี้
ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนี้ส่งผลให้คนที่เป็นผลิตผลของยุค
ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าเรียน
สอบเข้าทำงานสูงมากการใช้ทรัพยากรก็สูงขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน

ข้อสอง ได้ความรู้มาสนับสนุนการเลือกองค์ความรู้ให้กับนิทรรศการและกิจกรรม
ของศูนย์ความรู้กินได้ เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ
เพราะปรากฏการณ์ที่คนอายุยืนขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์
ที่ทำให้จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย
ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาการบริการต่างๆ
ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงวัยเหล่านี้ด้วย
มองดีๆ โอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเติบโตขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ แ
ละมุมมองของผู้ประกอบการนั่นแหละ

ข้อสาม ที่เล่าไปสองข้อข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ยกมาพูดในที่นี้เท่านั้น
ประเด็นอื่นๆ เช่น ระเบิดประชากร 3 ลูกของประเทศไทยคืออะไร,
คนไทยจะตายมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า, คนไทยจะอายุยืนได้อีกกี่ปี,
ตายก่อนอายุ 80 ปี เรียกว่าเป็นการตายก่อนวัยอันสมควรหรือเปล่า
ไปจนถึงการเปรียบเทียบคนแก่ในไทยกับญี่ปุ่นว่าทำไมคนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนไทย
คนแก่ญี่ปุ่นอยู่กันอย่างไร และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ขออนุญาติแนะนำให้คนอ่านไปหารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือกันเอาเอง

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่เห็นหัวข้อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชากรศาตร์ว่าจะอ่านยากไม่รู้เรื่อง
ขอแนะนำว่าภาษาที่ อ.ปราโมทย์ใช้เล่าเรื่องเป็นภาษาง่ายๆ
อ่านดูแล้วเหมือนกับฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องที่อยู่ใกล้ๆ ตัวให้ฟัง
มากกว่าจะเป็นบรรยายเนื้อหาหนักๆ ด้านประชากร
ที่สำคัญทำให้รู้สึกว่าความรู้เรื่องประชากรใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

Labels:

0 Comments:

Post a Comment

<< Home