Monday, June 15, 2009

สุนทรพจน์วันจบการศึกษาของ Oprah Winfey สำหรับบัณฑิต Stanford

ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหรือเปล่า
คือชอบอ่านสุนทรพจน์ดีๆที่มักจะพบได้จากพิธีจบการศึกษา
ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วงหลังนี้มีผู้รวบรวมสุนทรพจน์เหล่านี้
แปล และจัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

อ่านแล้วรู้สึกได้แรงบันดาลใจ
สมกับที่เป็นคำพูดเพื่อให้แง่คิดก่อนจบการศึกษา
และปลุกเร้าให้บัณฑิตใหม่เตรียมพร้อมเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
และความเป็นจริงที่จะต้องเผชิญเมื่อออกไปสู่การทำงาน

สุนทรพจน์ชิ้นล่าสุดที่ได้อ่านจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
เป็นของคุณ Oprah Winfrey พิธีกร เจ้าของรายการทอล์คโชว์
เจ้าของนิตยาสาร Harpo (ซึ่งมาจากชื่อของเธอเขียนจากหลังมาหน้า)
และโปรเจค อื่นๆ อีกมากมาย

เธอมากล่าวสุนทรพจน์ให้กับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Stanford
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา
เนื้อหาของสิ่งที่เธอพูดเป็นข้อคิดเกี่ยวกับสิ่งสำคัญในชีวิตที่ทุกๆ คนต้องเจอ 3 อย่าง
Feelings, Failure and finding Happiness

Oprah เล่าให้ฟังว่าเธอเองในตอนแรกไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย
Tennessee State University เพราะมีหน่วยกิตขาดไป 1 หน่วย
แต่มาเรียนจบเอาเมื่อหลายปีหลังจากนั้น เมื่อเธอได้รับเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์จบการศึกษา
และเธอรู้สึกว่าการที่พ่อของเธอพร่ำบอกมาตลอดว่าเธอจะไม่สามารถหางานได้
หรือได้งานใหม่ดีๆ เพราะเธอเรียนไม่จบ มันจะหลอกหลอนเธอไปเรื่อยๆ
ทั้งๆ ที่เธอเริ่มทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวมาตั้งแต่อายุ 19
และทำงานมาตลอดก็ตาม
วันที่เธอจบการศึกษาเป็นวันที่เธอทำให้พ่อของเธอภาคภูมิใจมาก
และทำให้เธอปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจให้ออกไปได้ในที่สุด
Oprah บอกว่า โลกคือจักรวาลแห่งการเรียนรู้ เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่
และสาเหตุที่พ่อของเธอยืนยันอยากให้เธอเรียนจบจนรับปริญญาให้ได้
ก็เพราะการศึกษาเป็นสิ่งเดียวที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถพรากไปจากเราได้
และการศึกษาก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
การจบจากมหาวิทยาลัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเท่านั้น

Feeling-ใช้ความรู้สึกพิจารณาสิ่งที่กำลังทำ
เมื่อเราต้องตัดสินใจว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ให้ใช้ความรู้สึกของเราเป็นเครื่องวัด
Oprah เรียกว่ามันคือ GPS ของชีวิต
เราต้องเรียนรู้ที่จะตรวจสอบ gut ไม่ใช่ ego
ให้ฟังเสียงจากหัวใจว่ารู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกลังเล หรือไม่แน่ใจก็อย่าทำ
"If it doesn't feel right, don't do it. Even doubt means don't"
และเราควรลงแรงกับสิ่งที่เรารัก ที่เราหลงใหล เพราะมันจะนำไปสู่ความสำเร็จ
เธอบอกว่าไม่ใช่เพราะเงินไม่สำคัญ แต่เงินไม่ใช่ความหมายของชีวิต
การมีเงินเยอะๆ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่ม และมีความหมาย
ควรแสวงหางานที่ชอบ แวดล้อมด้วยคนที่รักและชื่นชม มากกว่าจะต้องมีเงินเยอะๆ เสมอไป

Failing- ถืออุปสรรคเป็นบทเรียน
ทุกๆ คนต้องเจอปัญหาในชีวิต ไม่มีใครจะมีชีวิตที่ราบเรียบไปตลอด
แต่หากเกิดปัญหาขึ้นเราไม่ควรมันแต่โทษ หรือบ่นกับมันเราควรหันหน้าเข้าหาปัญหา
แล้วเราจะพบทางออกท่ามกลางปัญหานั้นเพราะการรับปัญหาไม่ได้หมายถึงยอมแพ้
แต่หมายถึงเรามีความรับผิดชอบต่างหาก

Finding Happiness- ต้องให้เพื่อได้รับความสุข
เราควรทำงาน และใช้ชีวิตเพื่อปัจจุบันและให้ความสำคัญ
กับการลงแรงเพื่อสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าจะมีชีวิตเพื่อตัวเองเท่านั้น
"Life is reciprocal exchange.
To move forward you have to give back"
เพราะชีวิตเป็นการแลกเปลี่ยน การที่เราจะมีความสุขได้เราต้องทำเพื่อคนอื่น
หากเรากำลังรู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกสูญเสีย รู้สึกไม่มีความสุขให้เราช่วยเหลือคนอื่นๆ
ที่เป็นทุกข์เหมือนกัน สูญเสียเหมือนกัน และไม่มีความสุขเหมือนกัน
ทำชีวิตให้เปี่ยมด้วยความหมาย แล้วเราก็จะมีความสุข
ในที่นี่ Oprah ยกตัวอย่างของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Stanford
Jane และ Leland Stanford เสียลูกชายไปด้วยโรคไทฟอยด์
เมื่อเขาอายุได้ 15 ปี
พวกเขาเปลี่ยนความเศร้าโศก และการสูญเสียลูกชายที่รัก
ไปเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ลูกๆ ของคนอื่นๆ
ซึ่ง Jane และ Leland ไม่สามารถให้กับลูกชายของเขาได้
ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไร เราก็สามารถทำชีวิตของเราให้เปี่ยมไปด้วยความสุข
และความหมายได้
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ http://news.stanford.edu/news/2008/june18/como-061808.html?view=print

ประเทศไทยควรมีพลเมืองเท่าไรจึงจะดี

เพิ่งอ่านจบไปอย่างรวดเร็วหนังสือเล่มใหม่
เกี่ยวกับความรู้ด้านประชากรศาสตร์
เรื่อง ประเทศไทยควรมีประชากรเท่าไรจึงจะดี
โดย ศ.ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศาสตราจารย์สาขาประชากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

อะไรคือความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ในมุมมองของคนอ่าน

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ที่จำเป็นและน่าสนใจเกี่ยวกับประชากรในประเทศไทย
และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่เราไม่ค่อยจะได้นึกถึง
เช่น เราทราบกันดีว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศของเรา
เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526
ที่อัตราการเกิดของประชากรมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนทุกปี
(ที่ อ.ปราโมทย์เรียกว่าประชากรรุ่นเกิดล้าน)
ฝรั่งเรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่าเป็นยุค Baby Boomer (พ.ศ. 2489-2499)
ได้อ่านอย่างนี้เลยรู้ว่าเหตุการณ์อย่างนี้ในประเทศไทยเกิดหลังจากนั้น
เราๆ ท่านๆ จำนวนไม่น้อยก็อยู่ในข่ายประชากรรุ่นเกิดล้านนี้
ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนี้ส่งผลให้คนที่เป็นผลิตผลของยุค
ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าเรียน
สอบเข้าทำงานสูงมากการใช้ทรัพยากรก็สูงขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน

ข้อสอง ได้ความรู้มาสนับสนุนการเลือกองค์ความรู้ให้กับนิทรรศการและกิจกรรม
ของศูนย์ความรู้กินได้ เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ
เพราะปรากฏการณ์ที่คนอายุยืนขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์
ที่ทำให้จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย
ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาการบริการต่างๆ
ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงวัยเหล่านี้ด้วย
มองดีๆ โอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเติบโตขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ แ
ละมุมมองของผู้ประกอบการนั่นแหละ

ข้อสาม ที่เล่าไปสองข้อข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ยกมาพูดในที่นี้เท่านั้น
ประเด็นอื่นๆ เช่น ระเบิดประชากร 3 ลูกของประเทศไทยคืออะไร,
คนไทยจะตายมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า, คนไทยจะอายุยืนได้อีกกี่ปี,
ตายก่อนอายุ 80 ปี เรียกว่าเป็นการตายก่อนวัยอันสมควรหรือเปล่า
ไปจนถึงการเปรียบเทียบคนแก่ในไทยกับญี่ปุ่นว่าทำไมคนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนไทย
คนแก่ญี่ปุ่นอยู่กันอย่างไร และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ขออนุญาติแนะนำให้คนอ่านไปหารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือกันเอาเอง

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่เห็นหัวข้อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชากรศาตร์ว่าจะอ่านยากไม่รู้เรื่อง
ขอแนะนำว่าภาษาที่ อ.ปราโมทย์ใช้เล่าเรื่องเป็นภาษาง่ายๆ
อ่านดูแล้วเหมือนกับฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องที่อยู่ใกล้ๆ ตัวให้ฟัง
มากกว่าจะเป็นบรรยายเนื้อหาหนักๆ ด้านประชากร
ที่สำคัญทำให้รู้สึกว่าความรู้เรื่องประชากรใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

Labels: